เข็มจักรมีรูปร่างมาตรฐานค่ะ สำหรับจักรเย็บผ้าที่มียี่ห้อโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Singer brother Janome หรือ Elna ก็ใช้เข็มจักรแบบเดียวกัน เพราะมีช่องใส่เข็มที่ตัวจักรเป็นมาตรฐานเช่นกัน ถ้าสังเกตุที่ส่วนหัวจะเห็นว่าหน้าตัดไม่เป็นวงกลมทั้งหมด แต่มีส่วนตัดแบนอยู่เกือบเป็นครึ่งวงกลม เพื่อให้ล็อกกับแกนยึดเข็มในจักรเย็บผ้า และหันปลายรูเข็มมาด้านหน้าได้พอดี ส่วนหัวเข็มที่แบนนี้มีตัวหนังสือเล็กๆ สลักอยู่เป็นตัวเลขระบุขนาดของเข็มค่ะ
ขนาดเข็มจักร ที่เห็นบนซองใส่เข็ม เป็นเลข 2 จำนวน คั่นด้วยเครื่องหมาย "/" เช่น 14/90 หรือบางยี่ห้ออาจเขียนสลับเป็น 90/14 และเรียกเข็มขนาดนี้ว่าเข็มเบอร์ 14
- ตัวเลขที่มากกว่า เช่น 90 เป็นการวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหน้าตัดของเข็ม ตามระบบเมตริกในหน่วยมิลลิเมตร และคูณด้วย 100 เพื่อให้เป็นตัวเลขกลมๆ ที่อ่านง่าย เช่น เข็มที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.90 มม. จะเขียนเป็น 90 วิธีนี้เป็นการกำหนดมาตรฐานของเข็มที่มีมาตั้งแต่ ปีค.ศ.1940
- ตัวเลขที่น้อยกว่า เช่น 14 เป็นการกำหนดโดยบริษัทซิงเกอร์ และเป็นขนาดมาตรฐานของเข็มตามระบบอเมริกัน
- 9/70 - 11/80 ใช้กับผ้าเนื้อบาง เช่น ผ้าชีฟอง ผ้าแพร ผ้าออแกนซ่า ผ้ามัสลิน ผ้าป่าน
- 11/80 - 14/90 ใช้กับผ้าเนื้อกลางๆ เช่น ผ้าลินิน ผ้าฝ้าย ผ้าตัดเสื้อทั่วไป ผ้ากำมะหยี่
- 16/100 - 18/110 ใช้กับผ้าเนื้อหนา หนัก เช่น ผ้ายีนส์ ผ้าใบ ผ้ากระสอบ หนังเทียม
การใช้เข็มผิดขนาดมีผลต่อการเย็บผ้ามาก ถ้าใช้เข็มบางเย็บผ้าหนา เข็มจะงอและหักง่าย ส่วนการใช้เข็มหนาเย็บผ้าบางจะได้ฝีเข็มหยาบ งานไม่ละเอียดสวยงาม ด้ายจะแตกและพันกัน ดังนั้นเวลาไปซื้อเข็มจักร จึงควรซื้อไว้อย่างน้อย 3 ขนาด คือ เบอร์ 11, 14 และ 16 ค่ะ นอกจากนั้นเมื่อใช้เข็มไปได้ระยะหนึ่ง ประมาณ 8-10 ชั่วโมงใช้งาน ก็ควรเปลี่ยนเข็มแม้จะยังไม่หักหรืองอ เพราะปลายเข็มทื่อแล้วค่ะ ถ้าใช้งานต่อเวลาเย็บจะรู้สึกว่าจักรเดินฝืดกว่าปกติ