เข้าปกเสื้อเชิ้ต



การเข้าปกเสื้อเชิ้ตค่อนข้างซับซ้อนสำหรับมือสมัครเล่น เพราะถ้าน๊านนานจะเย็บเสื้อเชิ้ตสักตัว  เวลาต้องเข้าปกเสื้อทีไรต้องดูคู่มือทุกครั้ง  วันนี้ก็เลยจะบันทึกวิธีการเข้าปกเชิ้ตตามแบบของตัวเองบ้าง


เมื่อต้องการทำปกเชิ้ต ต้องตัดผ้าส่วนที่เป็นปกเชิ้ต 2 ชิ้น + ปกคอตั้ง 2 ชิ้น  ส่วนผ้าที่ใช้รองด้านในของปกเชิ้ต เราใช้ผ้าแก้วกาวค่ะะ เพราะรีดทับบนปกเชิ้ตด้านในแล้วกาวจะยึดกับผ้าไม่ต้องเย็บติดอีก  ส่วนผ้ารองปกคอตั้ง เราใช้ผ้าเคมีขอบเอว เพื่อให้ปกแข็งตั้งทรงได้

ตีนผีเย็บย่น

 

ตีนผีเย็บย่น ช่วยให้การเย็บจีบรูด เพื่อทำระบาย หรือตัดเย็บกระโปรงจีบรูดทำได้ง่ายดาย ไม่ต้องมาเสียเวลานั่งเย็บฝีเข็มตรงแบบห่างๆ แล้วค่อยๆ ดึงรูดจีบ อีก


ตีนผีเย็บย่นอันเล็กๆ หน้าตาแบบนี้ค่ะ  มีทั้งชนิดที่มีก้านยึดกับแกนจับตีนผีของจักรเย็บผ้าในตัว และแบบงับติด (snap on) ที่ต้องมีก้าน snap ต่างหาก



การเลือกใช้ซิป


 ซิป หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า zipper หรือ zip fastener ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็รู้จักและเคยใช้อุปกรณ์ชนิดนี้กันทั้งนั้น จนอาจไม่เคยรู้สึกเลยว่ามันเป็นนวัตกรรมน่าทึ่งชนิดหนึ่ง ที่มีประโยชน์ต่อคนเราเป็นอย่างมาก ที่มาที่ไปของสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้ เริ่มตั้งแต่กว่า 100 ปี ที่แล้ว ในปี คศ 1851 Elias Howe  วิศวกรชาวอเมริกัน ผู้มีความสนใจในเรื่องการประดิษฐ์จักรเย็บผ้า ได้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์คล้ายซิปเพื่อใช้ยึดเสื้อผ้าหรือสิ่งทอเข้าด้วยกันโดยอัตโนมัติ แต่ไม่ได้ทำการตลาดเพื่อขายสิ่งประดิษฐ์นี้อย่างจริงจัง  หลังจากนั้นอีกราวๆ 40 ปี วิศวกรชาวอเมริกัน Whitcomb L. Judson ได้ออกแบบซิปแบบแบบเกี่ยวห่วงใช้กับรองเท้าแทนการใช้กระดุฒ เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ซิป แต่ซิปที่มีลักษณะการทำงานแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แบบไร้ตะขอ (hookless) นั้น เกิดจากการออกแบบในอีก 20 ปี ต่อมา โดยวิศวกรชาวสวีเดน Gideon Sundback


ซิปมีหลายแบบหลายชนิด บางชนิดออกแบบเป็นพิเศษ เช่น ซิปที่ใช้กับชุดนักบินอวกาศ แต่สำหรับการใช้ในงานทั่วๆ ไป อย่างที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ งานฝีมือ ก็มีหลายชนิด เช่นกัน  ซึ่งควรเลือกใช้ให้เหมาะกับงาน จะได้ใช้ได้นานๆ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย และจะเลือกใช้ซิปอย่างไร แบบไหน ให้พิจารณาดังนี้ค่ะ

  • ขนาดของฟันซิป ในท้องตลาดทั่วไป ขนาดของฟันซิปที่หาได้ง่ายคือ  เบอร์ 3 เบอร์ 5 ค่ะ เบอร์ 3 ก็ประมาณซิปไนล่อนที่ใช้ติดกระโปรง กางเกง เสื้อผ้า  ส่วนเบอร์ 5 ฟันซิปจะมีขนาดใหญ่กว่า เบอร์ 3 ใช้กับงานที่ต้องการความแข็งแรง เช่น เต้นท์ ผ้าหุ้มเบาะ เป็นต้น
  • วัสดุที่ใช้ทำฟันซิป มีทั้งที่เป็นไนล่อน พลาสติก เหล็ก และทองเหลือง เสื้อผ้าทั่วไปนิยมใช้ซิปฟันไนล่อน  กางเกงยีนส์หรือกางเกงที่ต้องใช้งานสมบุกสมบันจะติดซิปฟันทองเหลืองหรือฟันเหล็ก ส่วนฟันพลาสติก อย่างที่เรียกว่าซิปฟันกระดูก นิยมใช้ในงานกระเป๋า เพราะฟันซิปสวยงาม โชว์ได้ และมีฟันซิปอีกแบบที่เคยเป็นที่นิยม เรียกว่าฟันนิกเกิล ใช้ตกแต่งเสื้อผ้า ทำงานฝีมือ ขนาดฟันซิปค่อนข้างใหญ่ เพราะใช้โชว์ฟัน มีสีโลหะแววาว เช่น สีเงิน สีทอง หรือสีรุ้ง  

การสร้างเกล็ดกระโปรงมาตรฐาน

การวาดเกล็ดกระโปรงลงบนกระดาษสร้างแบบ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำแบบกระโปรงมาตรฐานแล้วค่ะ  การทำเกล็ดกระโปรง เพื่อทำให้กระโปรงมีส่วนโค้งจากเอวที่คอด ลงไปหาส่วนสะโพกที่ผายออก ตำแหน่งเกล็ดกระโปรงจึงเป็นตำแหน่งเย็บเก็บผ้าส่วนที่ใกล้ขอบเอวเข้าหากัน  แม้แต่กระโปรงพลีทรอบตัว ก็ควรสร้างเกล็ดกระโปรงไว้บนแบบ เช่นกัน

จากตอนที่แล้ว ที่เราได้ปรับความกว้างของกระโปรงชิ้นหน้าให้มากกว่าชิ้นหลัง ข้างละ 2 ซม.  เมื่อจะทำเกล็ดกระโปรง เริ่มที่แบบชิ้นหลังก่อนก็ได้ค่ะ

การวาดเกล็ดกระโปรงชิ้นหลัง
แบ่งระยะของขอบเอวชิ้นหลัง จากสันทบถึงโค้งเอวชิ้นหลัง เป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน ลากเส้นตรงลงมาจากตำแหน่งที่แบ่ง ถึงเส้นสะโพกบน ให้เส้นนี้นี้คือเส้นกึ่งกลางของเกล็ดแต่ละอัน   ซึ่งเกล็ดแต่ละอันจะกว้างเท่าไรขึ้นกับความยาวของเอวของผู้สวมใส่ คำนวณจาก

ความกว้างของเกล็ดชิ้นหลัง 2 อัน     =     ระยะ PQ   -   [(รอบเอวจริง / 4) - 2] 

ได้ความกว้างของเกล็ดชิ้นหลัง 2 อัน มาแล้ว  กำหนดให้เกล็ดแรกทางซ้ายมือ กว้าง 3 ซม.  เหลือเท่าไหร่ ให้เป็นความกว้างของเกล็ดที่ 2

 

 และให้ความยาวเกล็ดแรกประมาณ 14-16 ซม. ส่วนเกล็ดที่ 2 ยาวประมาณ 12 ซม.


ปรับแบบกระโปรงพื้นฐาน: ความกว้างชิ้นหน้าและชิ้นหลัง

สร้างพื้นฐานกระโปรงกันแล้วก็ปรับความกว้างของกระโปรงชิ้นหน้า-ชิ้นหลัง กันต่อค่ะ

กระโปรงพื้นฐานควรปรับให้ด้านหน้ามีความกว้างมากกว่าด้านหลัง เพื่อให้เมื่อมองกระโปรงที่อยู่บนตัวผู้สวมใส่แล้ว จะได้ไม่เห็นมองไม่เห็นตะเข็บข้างตัวกระโปรงชัดเกินไป การปรับทำได้โดยนำแบบกระโปรงพื้นฐานที่สร้างไว้ในตอนที่แล้ว มาลดความกว้างของกระโปรงชิ้นหลังลงไป 2 ซม. จะทำให้กระโปรงชิ้นหน้ากว้างขึ้นข้างละ 2 ซม. และชิ้นหลังแคบลงข้างละ 2 ซม.ตามเส้นสีแดงในภาพ



แล้วก็ลบเส้นความกว้างตามแนวเดิมออก จะได้แบบกระโปรงพื้นฐานที่ด้านหน้ากว้างกว่าด้านหลังข้างละ 2 ซม. ค่ะ

การสร้างแบบกระโปรงมาตรฐาน (1)

 

เมื่อวัดตัวนางแบบ สำหรับการตัดประโปรงไว้แล้ว ก็เริ่มลงมือทำแบบพื้นฐานของกระโปรง ลงบนกระดาษสร้างแบบกันได้เลยค่ะ  แบบพื้นฐานของกระโปรงนี้จะเป็นเส้นตรงแนวตั้งและแนวนอน ที่ความยาวของแต่ละเส้นได้มาจากการวัดรอบตัวนางแบบ


เริ่มจากเส้นตรงแนวนอนด้านล่างสุด เพื่อกำหนดความกว้างของแบบ
ความกว้างของแบบ  (เส้น AB)  = รอบสะโพกล่าง / 2
ความยาวของเส้นตั้งซ้าย (AC)  = ความยาวกระโปรงด้านหลัง
ความยาวของเส้นตั้งขวา  (AD) = ความยาวกระโปรงด้านหน้า


การวัดตัวเพื่อสร้างกระโปรง

การตัดเย็บกระโปรง เป็นขั้นแรกของการฝึกงานตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะการวัดตัว และสร้างแบบไม่ซับซ้อนเกินไป   ส่วนการตัดผ้าก็สามารถคำนวณพื้นที่ของผ้าที่จะใช้ได้ง่าย การเย็บด้วยจักรก็ไม่ต้องใช้เทคนิคที่ซับซ้อนมาก จะมีขั้นตอนที่ต้องระมัดระวังหน่อย คือ การเย็บเข้ากับกระโปรงซับใน ติดซิป และเข้าขอบเอว เท่านั้น

เริ่มต้น ด้วยการวัดตัว เพื่อนำขนาดตัวของผู้ที่จะสวมใส่เสื้อผ้าไปสร้างเป็นแบบ (pattern) โดยมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในขั้นตอนนี้ คือสายวัด เป็นแถบพลาสติกสีขาวมีสเกลบอกความยาวเป็นนิ้วและเซนติเมตร และสมุดวัดตัว เพราะมีช่องหรือบรรทัดให้ใส่สัดส่วนร่างกายของแบบ อยู่แล้ว  อุปกรณ์เหล่านี้หาซื้อได้จากร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บทั่วไป