เริ่มต้น ด้วยการวัดตัว เพื่อนำขนาดตัวของผู้ที่จะสวมใส่เสื้อผ้าไปสร้างเป็นแบบ (pattern) โดยมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในขั้นตอนนี้ คือสายวัด เป็นแถบพลาสติกสีขาวมีสเกลบอกความยาวเป็นนิ้วและเซนติเมตร และสมุดวัดตัว เพราะมีช่องหรือบรรทัดให้ใส่สัดส่วนร่างกายของแบบ อยู่แล้ว อุปกรณ์เหล่านี้หาซื้อได้จากร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บทั่วไป
สายวัดและสมุดวัดตัว (ที่มา : www.petracraft.com)
เริ่มด้วยการหาเอวของนางแบบ คือ ส่วนที่คอดที่สุดบริเวณกลางลำตัว หาผ้าหรือเทปมาคาดผูกไว้เพื่อกำหนดตำแหน่งของเอว แล้วเริ่มการวัดขนาดของรอบเอว และรอบสะโพก ดังนี้
- วัดรอบเอว ตรงส่วนที่คอดสุดกลางลำดัว
- วัดความยาวแนวตั้งจากเอวลงมาที่หน้าท้องส่วนที่นูนที่สุด (เพื่อใช้กำหนดความสูงสะโพกบน และระยะที่เหมาะสม สำหรับการสร้างเกล็ดกระโปรง)
- วัดรอบสะโพกบน คือ ส่วนที่นูนสุดของหน้าท้อง และเพื่อให้ได้ระยะวัดที่เหมาะสม ให้ใช้นิ้วมือสองนิ้วสอดไว้ใต้สายวัด เพื่อให้ได้ระยะรอบสะโพกบนที่หมุนสายวัดไปมารอบๆ ได้
- วัดรอบสะโพกล่าง คือส่วนที่กว้างที่สุดบริเวณกลางลำตัว ใช้วิธีการวัดเหมือนการวัดสะโพกบน คือ สอดนิ้วมือไว้ระหว่างสะโพกกับสายวัดใหมุนสายวัดไปมาได้
จากนั้นวัดความยาวของกระโปรงที่ต้องการตัด ดังนี้
- วัดความยาวกระโปรง จากเอวถึงชายกระโปรง ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง
- วัดความสูงจากพื้นถึงชายกระโปรงทั้งด้านหน้า ด้าน ข้างและด้านหลัง (ตัวเลขการวัดนี้ อาจไม่ได้ใช้ แต่วัดเก็บไว้เป็นข้อมูลความสูงของแบบ เผื่อการตัดกระโปรงให้ยาวขึ้น)
- วัดความยาวสะโพก ด้านหลัง ตามแนวตั้ง จากเอวถึงสะโพกล่าง (เก็บตัวเลขไว้ในกรณีที่ แบบอาจมีสะโพกงอนมากกว่าคนทั่วไป จะได้ใช้ในตอนปรับแพทเทิร์นได้)