การวาดเกล็ดกระโปรงลงบนกระดาษสร้างแบบ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำแบบกระโปรงมาตรฐานแล้วค่ะ การทำเกล็ดกระโปรง เพื่อทำให้กระโปรงมีส่วนโค้งจากเอวที่คอด ลงไปหาส่วนสะโพกที่ผายออก ตำแหน่งเกล็ดกระโปรงจึงเป็นตำแหน่งเย็บเก็บผ้าส่วนที่ใกล้ขอบเอวเข้าหากัน แม้แต่กระโปรงพลีทรอบตัว ก็ควรสร้างเกล็ดกระโปรงไว้บนแบบ เช่นกัน
จากตอนที่แล้ว ที่เราได้ปรับความกว้างของกระโปรงชิ้นหน้าให้มากกว่าชิ้นหลัง ข้างละ 2 ซม. เมื่อจะทำเกล็ดกระโปรง เริ่มที่แบบชิ้นหลังก่อนก็ได้ค่ะ
การวาดเกล็ดกระโปรงชิ้นหลัง
แบ่งระยะของขอบเอวชิ้นหลัง จากสันทบถึงโค้งเอวชิ้นหลัง เป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน ลากเส้นตรงลงมาจากตำแหน่งที่แบ่ง ถึงเส้นสะโพกบน ให้เส้นนี้นี้คือเส้นกึ่งกลางของเกล็ดแต่ละอัน ซึ่งเกล็ดแต่ละอันจะกว้างเท่าไรขึ้นกับความยาวของเอวของผู้สวมใส่ คำนวณจาก
ความกว้างของเกล็ดชิ้นหลัง 2 อัน = ระยะ PQ - [(รอบเอวจริง / 4) - 2]
ได้ความกว้างของเกล็ดชิ้นหลัง 2 อัน มาแล้ว กำหนดให้เกล็ดแรกทางซ้ายมือ กว้าง 3 ซม. เหลือเท่าไหร่ ให้เป็นความกว้างของเกล็ดที่ 2
และให้ความยาวเกล็ดแรกประมาณ 14-16 ซม. ส่วนเกล็ดที่ 2 ยาวประมาณ 12 ซม.
การวาดเกล็ดกระโปรงชิ้นหน้า
การทำเกล็ดกระโปรงชิ้นหน้า ใช้วิธีเดียวกันค่ะ แต่ลคำนวณความกว้างของเกล็ด 2 อัน จาก
ความกว้างของเกล็ดชิ้นหลัง 2 อัน = ระยะ RS - [(รอบเอวจริง / 4) + 2]
ได้ความกว้างของเกล็ดชิ้นหลัง 2 อัน มาแล้ว กำหนดให้เกล็ดแรกทางขวามือ กว้าง 2.5 ซม. เหลือเท่าไหร่ ให้เป็นความกว้างของเกล็ดที่ 2 ความยาวเกล็ดแรกถึงเส้นสะโพกบน หรือประมาณ 10 ซม. ส่วนเกล็ดที่ 2 ยาวประมาณ 8-9 ซม.
การกำหนดให้เกล็ดกระโปรงชิ้นหน้า มีความกว้างน้อยกว่าเกล็ดกระโปรงชิ้นหลัง เนื่องจากส่วนของหน้าท้องมีความนูนน้อยกว่าส่วนสะโพกด้านหลัง ถ้าสร้างเกล็ดกว้างเท่ากัน เวลาตัดเป็นกระโปรงแล้ว ช่วงเอวถึงสะโพก อาจย่นหรือตึงเกินไปค่ะ
เป็นอันจบขั้นตอนการสร้างแบบกระโปรงมาตรฐานของมือใหม่กันเแล้วค่ะ เมื่อจะตัดกระโปรงรูปทรงต่างๆ เช่น กระโปรงสอบ กระโปรงทรงเอ กระโปรงย้วย กระโปรงจับจีบ ก็นำแบบกระโปรงมาตรฐานนี้ไปเพิ่ม ลด หรือขยาย ตามวิธีการสร้างแบบกระโปรงต่างๆ อีกครั้งหนึ่งค่ะ