จักรเย็บผ้าแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นที่มีฟังก์ชั่นเย็บรังดุมได้ อาจมีปุ่มควบคุมการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ใช้ต้องไปศึกษารายละเอียดในคู่มือของแต่ละเครื่องด้วยค่ะ
หน้าตาของปุ่มควบคุมการเย็บรังดุมของเจักรเย็บผ้ารุ่นที่ผู้เขียนใช้อยู่ เป็นแบบหมุนแก็ก อยู่ในชุดเดียวกับการปรับความห่างของฝีเข็ม เมื่อต้องการใช้งานก็หมุนมาให้ตรงกับตำแหน่งลูกศรด้านบนค่ะ
- เมื่อจะเย็บรังดุมก็เริ่มด้วยการเปลี่ยนตีนผีของจักรเป็นตีนผีเย็บรังดุม วางเสื้อที่วาดตำแหน่งรังดุมด้วยปากกาละลายน้ำไว้แล้ว ให้เส้นที่วาดไว้อยู่ตำแหน่งกึ่งกลางตีนผี
- จังหวะที่ 1 เป็นการเดินฝีเข็มแบบซิกแซกความกว้างประมาณ 2 มิล ไปตามแนวเส้นความยาวรังดุมที่ร่างไว้ ขณะเย็บฝีเข็มจะซิกแซกไปข้างๆ เส้นแบบพอดีๆ เป็นแนวรังดุมด้านขวา
- เมื่อสิ้นสุดความยาวรังดุมข้างขวา ให้ปรับปุ่มเย็บรังดุมไปจังหวะที่ 2 เพื่อเดินฝีเข็มซิกแซกความกว้างประมาณ 4-5 มิล ปิดด้านล่างรังดุม เดินเข็มพอให้เกิดเป็นเส้นทึบ
- แล้วปรับปุ่มเย็บรังดุมไปจังหวะที่ 3 ตอนนี้จักรจะเดินฝีเข็มแบบถอยหลังเองโดยอัตโนมัติ มีความกว้างประมาณ 2 มิล ไปตามแนวเส้นความยาวรังดุมที่ร่างไว้จนถึงด้านบนของรังดุม
- ปรับปุ่มเย็บรังดุมไปจังหวะที่ 4 เพื่อเดินฝีเข็มซิกแซกความกว้างประมาณ 4-5 มิล ปิดด้านบนของรังดุม เดินเข็มพอให้เกิดเป็นเส้นทึบ
จะได้รังดุมเสร็จเรียบร้อยพอสมควรสำหรับมือสมัครเล่น เมื่อจะตัดช่องตงกลางเป็นรังดุม ให้ใช้กรรไกรปลายแหลม ค่อยๆตัดเลาะไป หรือแนะนำให้ใช้ที่เลาะด้าย จะสะดวกมาก เพราะไม่ต้องระวังว่ากรรไกรจะไปตัดด้ายที่เย็บไว้ให้หลุด ให้แทงปลายที่เลาะด้ายที่ด้านบนสุดของช่องที่จะตัด ค่อยๆ ลากลงมาตรงกลาง ความคมด้านในของที่เลาะด้ายจะตัดผ้าที่หนาได้ง่ายดาย แล้วย้ายที่เลาะด้ายมาที่ด้านล่าง ลากขึ้นไปจนเจอกับรอยที่ตัดไว้ก่อนแล้ว แล้วจึงใช้กรรไกรก้ามปูตัดปลายด้ายจากการเย็บออกให้เรียบร้อย
คนที่มีจักรรุ่นเย็บซิกแซกได้ แต่ไม่มีฟังก์ชั่นเย็บรังดุม ก็ต้องอาศัยการกำหนดความกว้างของการซิกแซกเอาเอง ส่วนคนที่มีแต่จักรรุ่นเก่าที่เย็บตรงได้อย่างเดียว คงต้องใช้วิธีเย็บรังดุมด้วยมือแทนค่ะ